รวมหนี้บัตรเครดิต คืออะไร
รวมหนี้บัตรเครดิต ในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ
1. รวมหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดที่มีแล้วไปขอกู้สินเชื่อส่วนบุคคล จากสถาบันการเงินแห่งใหม่มาชำระสินเชื่อเดิมที่มีอยู่ เรียกว่า รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตก็ได้ โดยจะนำเงินกู้ก้อนใหม่ที่ได้มาไปจ่ายหนี้เก่าทั้งหมด เหมือนเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
2. รวมหนี้บัตรเครดิตกับสินเชื่อบ้านไว้ที่ธนาคารแห่งเดียว เป็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เป็นทั้งหนี้บ้านและหนี้บัตรเครดิต เหมาะกับคนที่มีสินเชื่อบ้านอยู่แล้ว ข้อดีคือ สามารถรวมหนี้ข้ามธนาคารได้
ข้อดี-ข้อเสียของการรวมหนี้บัตรเครดิต
- มีเงินก้อนนำไปชำระปิดหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่
- จำนวนเงินผ่อนต่อเดือนลดลง เพราะสินเชื่อตัวใหม่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม
- ยืดเวลาผ่อนชำระหนี้ได้นานขึ้น
- บริหารจัดการหนี้ง่ายขึ้น เพราะเหลือหนี้เพียงก้อนเดียว จึงมีโอกาสชำระหนี้ได้ตรงเวลาและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
- ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน
- มีเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
- เมื่อไม่เป็นหนี้เสีย จึงไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
ข้อเสียของการรวมหนี้บัตรเครดิต
- อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลบางช่วงเวลาอาจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต จึงต้องเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยทั้งช่วงโปรโมชั่นและหลังโปรโมชั่นให้ดี
- ยอดหนี้บัตรเครดิตที่จะนำมาปิดหนี้จะรวมทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าปรับต่าง ๆ ซึ่งเงินก้อนนี้ต้องมาเสียดอกเบี้ยกับเงินกู้ก้อนใหม่อีก กลายเป็นว่าต้องเสียดอกเบี้ย 2 ต่อ
- การกู้เงินเพิ่มเสี่ยงต่อการใช้จ่ายเงินเกินตัว
- การกู้เงินเพิ่มทำให้เกิดหนี้ก้อนใหม่
- การยืดเวลาชำระหนี้ออกไปให้นานขึ้น อาจทำให้ต้องจ่ายหนี้เป็นจำนวนเงินที่มากกว่าหนี้เดิมที่มีอยู่
วิธีเลือกสินเชื่อรวมหนี้บัตรเครดิต
- พิจารณารายได้ขั้นต่ำต่อเดือนของเราว่าสามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลตัวไหนได้บ้าง ซึ่งธนาคารบางแห่งมีโปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษให้ผู้ที่มีเงินเดือนตามเกณฑ์ที่กำหนด
- ดูจำนวนเงินที่เราต้องการกู้ แล้วตรวจสอบวงเงินสูงสุดที่ธนาคารให้กู้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปธนาคารจะให้สินเชื่อไม่เกิน 2-5 เท่าของรายได้ต่อเดือน แต่ถ้าไม่สามารถกู้เต็มวงเงินเพื่อนำไปโปะหนี้ทั้งหมดได้ ควรเลือกปิดหนี้บัตรที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน
- กรณีเป็นพนักงานประจำ ลองมองหาสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคารที่ใช้รับบัญชีเงินเดือนดูก่อน เพราะอาจได้รับสิทธิพิเศษบางอย่าง หรืออัตราดอกเบี้ยถูกกว่าบุคคลทั่วไป
- เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยของแต่ละธนาคาร รวมทั้งโปรโมชั่นในช่วงนั้น โดยอัตราดอกเบี้ยมีอยู่หลายรูปแบบ คือ
- อัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาผ่อน เช่น 12% ต่อปี นาน 60 เดือน
- อัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงแรก หลังจากนั้นจึงค่อยปรับสูงขึ้น เช่น 8.99% ในปีแรก และปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป
- อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น MRR+8.00%
- พิจารณาระยะเวลาที่ต้องการผ่อน โดยสินเชื่อบางตัวการผ่อนระยะเวลาสั้นจะคิดดอกเบี้ยถูกกว่า
- พิจารณาเงินงวดที่ต้องผ่อนจ่ายในแต่ละเดือน เนื่องจากสินเชื่อบางตัวคิดดอกเบี้ยถูก แต่มียอดผ่อนสูง อาจส่งผลต่อการหมุนเงินใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นอาจมองหาสินเชื่อที่คิดดอกเบี้ยแพงกว่า แต่ให้ผ่อนชำระในแต่ละเดือนน้อยกว่า
- ตรวจสอบโปรโมชั่นอื่น ๆ เช่น ฟรีค่าธรรมเนียม ลดดอกเบี้ยหรือสิทธิพิเศษเมื่อสมัครผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์
สรุปก็คือ ควรเลือกสินเชื่อส่วนบุคคลที่คิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด แต่ต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ ประกอบด้วย เช่น จำนวนวงเงินให้กู้ ระยะเวลาผ่อนชำระ จำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือน เพื่อให้ตรงความต้องการ และช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ให้เราได้มากที่สุด
รวมหนี้บัตรเครดิต ธนาคารไหนดี