ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ด้านปัญหา Aging ของลูกค้า (ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันลูกค้ากลุ่มนี้ราว 35% ของลูกค้าทั้งหมด จึงได้จัดทำ โครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าเกษตรกรที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีหนี้และมีความประสงค์จะโอนทรัพย์สินและหนี้สินให้กับทายาท โดย ธ.ก.ส. จะจ่ายสินเชื่อให้ทายาทที่มารับช่วงประกอบอาชีพ เพื่อปิดชำระหนี้เดิมของผู้สูงอายุ แบ่งเป็น
- สัญญาต้นเงิน (รวมต้นเงินเดิม) กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี พิเศษไม่เกิน 20 ปี มีอัตราดอกเบี้ยดังนี้ (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.975%)
- อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 5 เท่ากับ MRR
- ปีที่ 6 – 10 เท่ากับ MRR-1
- ปีที่ 11 เป็นต้นไป เท่ากับ MRR-2
- สัญญาต้นเงิน (รวมดอกเบี้ยเดิม) กำหนดชำระคืนภายใน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0%
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 42,000 คน ขณะที่โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอื่นๆ ยังสอดคล้องกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกหนี้ปกติ กลุ่มลูกหนี้ Hybrid และกลุ่มลูกหนี้ NPL
โดย ธ.ก.ส. มีการจัดทำเครื่องมือหรือวิธีการแก้ไขหนี้ตามปัญหาที่แท้จริงของลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการวางแนวทางป้องกันไม่ให้หนี้ดีกลายเป็นหนี้เสียผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น
- โครงการชำระดีมีคืน โดยคืนดอกเบี้ยในอัตรา 20% ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วงเงินดอกเบี้ยที่จ่ายคืนไปแล้ว 2,840 ล้านบาท มีลูกค้าได้รับประโยชน์ 2.58 ล้านราย
- แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนัก ผ่านโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน
ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าวช่วยแก้ปัญหาหนี้ NPL ภาคการเกษตร ลดลงจาก 14.6% ไปอยู่ที่ 7.68% ณ 31 มี.ค. 2023
นอกจากนี้ ส่วนของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งระบบ ตั้งแต่งวด เม.ย. 2020 ถึงงวด มี.ค. 2021 เป็นระยะเวลา 1 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 3 ล้านราย ต้นเงิน 938,466 ล้านบาท
โครงการพักชำระหนี้โควิดภาคสมัครใจ และการจ่ายสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น วงเงินรายละ ไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งมีผู้ได้รับสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 913,548 ราย วงเงิน 9,086 บาท โดยในปัจจุบันยังมีหนี้คงค้างในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 336,486 ราย จำนวนเงินคงค้าง 2,193 ล้านบาท
ที่มา – ธ.ก.ส.
Comments are closed.